ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา
         แรกเริ่มเดิมทีของจิ๋วในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นของชนชั้นสูงในระดับเจ้าจอม ที่ชอบสะสมของจิ๋ว ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการถวายจากชาวต่างชาติที่มาเจริญสัมพันธไมตรีกับเจ้ากรุงสยามในสมัยนั้น แต่มาในปัจจุบันผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งชมรมของจิ๋วแห่งประเทศไทย คือ อาจารย์ดรุณีนาถ นาคคง โดยมีคุณปิยะนุช นาคคง เป็นเลขานุการชมรมฯ
          ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้รับการถ่ายทอดความรู้ ความทรัทธาในงานปั้นจิ๋วรุ่นแรก ๆ จากอาจารย์ เมื่อได้เข้าไปสัมผัสงาน มีความรู้สึกว่าชอบและรักในงานนี้ ของจิ๋วเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความสามารถในการมองของต้นแบบ เพื่อให้ปั้นออกมาให้ได้เหมือนจริง ต้องอดทน และมีสมาธิเป็นอย่างมาก และที่สำคัญคือ ศิลปะที่มีอยู่ในตัวเองสามารถทำให้งานออกมาเป็นในแบบของตัวเอง มีเอกลักษณ์สวยงาม การพัฒนางานนั้นสำคัญมาก ถ้าเรารู้จักปรับปรุง ออกแบบงานใหม่ ๆ เพื่อให้งานออกมาดีขึ้น คุณค่าของงานที่เราทำก็จะเพิ่มขึ้น และเพื่อมูลค่าได้อีกด้วย
         เพื่อตอบแทนงานของจิ๋วที่ดิฉันรัก ดิฉันจังพัฒนางานปั้นของจิ๋วตามความถนัดของตนเอง คือ ผัก ผลไม้ และสมุนไพรจิ๋ว ให้มีความเหมือนตามธรรมชาติมากที่สุด ได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวต่างชาติ จากจุดเริ่มต้นการปั้นผักจิ๋วแบบไทย ๆ ทำให้ได้มีโอกาสทำงานชิ้นแรกเป็นผักและผลไม้ต่างประเทศ ส่งไปอวดต่างประเทศมาเป็นเวลาเกือบ ๘ ปีเต็มอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผู้ทำงานผักต่างประเทศส่งออกเริ่มแรกก็ว่าได้ แต่ไม่ได้เป็นที่เปิดเผย จากวันนั้นถึงวันนี้มีการกระจายรายได้จากครัวเรือนสู่ท้องถิ่นมาเป็นลำดับ

     ผู้คิดค้นการประดิษฐ์ของจิ๋ว

        ศิลปินผู้ประดิษฐ์ของจิ๋วต้องใช้ความอดทน อุตสาหะ พยายาม และความพยายามอย่างสูงที่จะทำให้งานศิลปะชิ้นเล็กเกิดความงามประดุจมีชีวิตและวิญญาณผสานอยู่ ชวนให้คนหลงใหลใฝ่หาของจิ๋วมาสะสม เพราะของจิ๋วเป็นสื่อแห่งความสุข ความอ่อนโยน ความทนุถนอม ไม่เปลืองที่ในการจัดเก็บ น้ำหนักน้อย หิ้วไปไหนก็สะดวก เพราะชิ้นเล็กจนสามารถย่อเมืองทั้งเมืองให้มาอยู่รวมกันได้ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่
        นับวันของจิ๋วของไทยก็ยิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ได้ออกสื่อโทรทัศน์ทุกช่องอย่างไม่ขาดสาย ได้ขึ้นโชว์อยู่บนกล่องอาหารของการบินไทยสายการบินของชาติ ได้อยู่บนปกหนังสือกินนรี หนังสือสวัสดี และหนังสือต่างประเทศอีกหลายฉบับ เป็นของขวัญให้กับผู้นำประเทศหลายครั้งหลายครา

        อ.ดรุณีนาถ นาคคง รางวัลพระราชทานบุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรม ครูดีเด่นอันดับ 1 ของชาติ ผู้คิดค้นการประดิษฐ์ของจิ๋ว

        ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าที่จะรักษาและสืบทอดมรดกชิ้นสำคัญชิ้นนี้ของเมืองไทย คุณ ปิยะนุช นาคคง อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งสืบทอดวิธีทำของจิ๋วมาจากมารดา อาจารย์ดรุณีนาถ นาคคง บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรม จนกลายมาเป็นนักสะสมและนักประดิษฐ์ของจิ๋ว ที่ผู้คนยกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งของจิ๋วเมืองไทย เนื่องจากมีของจิ๋วสะสมอยู่มากกว่า 2ล้านชิ้น คุณปิยะนุช ยกของสะสมบางส่วนที่ตนเองแสนจะรัก ทนุถนอม ให้เป็นสมบัติของโลกโดยได้สร้างพิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์ของจิ๋ว ขึ้นเป็นแห่งแรกที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลซิตี้ บางนา ด้วยเงินทุนส่วนตัวที่ได้มาจากการทอล์คโชว์ และจัดรายการโทรทัศน์ พร้อมชักชวนนักประดิษฐ์ของจิ๋วที่มีอุดมการณ์ มาจัดทำพิพิธภัณฑ์ของจิ๋วเคลื่อนที่ โดยใช้เงินเก็บก้อนสุดท้าย งบประมาณกว่า 5,000,000 บาท มาทำงาน

       วัตถุประสงค์

1. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ครอบครัวได้มีกิจกรรมร่วมกัน ในวันหยุด สร้างบรรยากาศแห่งความสุข ความเข้าใจในครอบครัว พร้อมทั้งได้ความรู้ ประสบการณ์อันหลากหลาย ความภาคภูมิใจในชาติ จากการเดินทางไปศึกษาพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ทั่วทั้งประเทศ

2. เพื่อดึงดูดประชาชน ให้มาเที่ยวบ้านสุขาวดีมากขึ้น โดยได้กลุ่มผู้ชื่นชอบงานประดิษฐ์ของจิ๋วและเด็กๆทั่วพัทยา เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ

3. เพื่อให้เยาวชน, ประชาชน และครอบครัวไทยทั่วชลบุรีและนักท่องเที่ยวที่มาพัทยาได้มีโอกาสชื่นชมกับของจิ๋วที่มี ความน่ารักมีความเหมือนจริงจนน่าอัศจรรย์ ได้ความสุข และสุนทรีย์ มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

4. เพื่อเผยแพร่งานของจิ๋ว ทั้งวิธีการประดิษฐ์ และความรู้ต่าง ๆ ในเรื่องงานของจิ๋วให้เป็นที่รู้จักของชาวพัทยาได้เกิดแนวทางเอาไปพัฒนางานหัตกรรมของตน ย่อส่วนให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนพัทยาสามารถพกพาสะดวกมากขึ้นในการเดินทางไปท่องเที่ยวต่ออีกหลายแห่ง นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางการตลาดที่สำคัญของชาติเลยที่เดียว

5. จัดแสดงสุดยอดผลงานการประดิษฐ์และงานสะสมของจิ๋วนานาชาติของ อาจารย์ดรุณีนาถ นาคคง บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมผู้ให้กำเนิดของจิ๋วยุคปัจจุบัน และคุณปิยะนุช นาคคง ซึ่งทั้งสองท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้งชมรมของจิ๋วแห่งประเทศไทย รวมทั้งแสดงผลงานของสุดยอดฝีมือ งานประดิษฐ์ของจิ๋วของเมืองไทย และสุดยอดฝีมืองานปั้นระดับโลก ให้เป็นตัวอย่างและแนวทางสำหรับผู้สนใจงานประดิษฐ์ของจิ๋ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น